เครดิตภาษีเงินปันผลคืออะไรนั้น ผมขอแนะนำให้ดูตัวอย่างอันนี้เพื่อผู้อ่านจะได้เข้าใจอย่างลึกซึ้ง สมมุติว่า ผมเปิดบริษัทขึ้นมาบริษัทหนึ่งชื่อบริษัทติงต๊อง และผมถือหุ้นใหญ่แต่เพียงผู้เดียวบริษัทนี้มีนโยบายจ่ายปันผลเป็นกำไรสุทธิทั้งหมดของบริษัท สมมุติว่าปีนี้ทั้งปีบริษัททำกำไรได้ 100 บาท เสียภาษีร้อยละ 30 เสียภาษีไป 30 บาท เหลือกำไรสุทธิหลังหักภาษีเท่ากับ 70 บาท จ่ายปันผล 70 บาท ก่อนที่เงินปันผลจะถึงมือผมจะต้องเสียภาษีเงินปันผลอีกร้อยละ 10 สรุปเสียภาษีเงินปันผลไปอีก 7 บาท เหลือเงินปันผลเพียง 63 บาทเท่านั้นที่ถึงมือผมจากกำไร 100 บาท เรื่องนี้ไม่ค่อยจะยุติธรรมสำหรับผมนัก ผมจึงร้องเรียนไปที่สรรพากรเพื่อขอภาษีคืน ทั้งภาษีที่หักจากบริษัทและภาษีเงินปันผล โดยสรุปแล้วเครดิตเงินปันผลคือการเรียกร้องขอคืนภาษีที่จ่ายผ่านบริษัทกลับคืนมา
มาดูกันว่ารายละเอียดการขอเครดิตมีอะไรบ้าง บริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ที่นักลงทุนซื้อหุ้นกันอยู่นั้นบางบริษัทก็จ่ายเงินปันผลจากกำไรในส่วนที่เสียภาษีในอัตราที่แตกต่างกัน ที่ผมเห็นก็มีเงินปันผลบางส่วนนำมาจากกำไรในส่วนที่เสียภาษีร้อยละ 30 บ้าง ร้อยละ 20 บ้าง ร้อยละ 10 บ้าง ไม่ต้องเสียภาษีบ้าง เครดิตภาษีไม่ได้บ้าง(นำภาษีที่บริษัทจ่ายไปคืนกลับมาไม่ได้) ผมขอสรุปเป็นสูตรในการคำนวณ เครดิตภาษี = อัตราภาษีที่จ่าย/(100 - อัตราภาษีที่จ่าย) คูณเงินปันผล เช่นบริษัทแห่งหนึ่งปันผลจากกำไรที่เสียภาษีในอัตราร้อยละ 30 บาท ปันผลจำนวน 4,000 บาท เงินที่เครดิตได้ = 30/(100 - 30) ของเงินปันผล = 3/7 ของ 4,000 บาท เท่ากับ 1,714.29 บาท เงินจำนวนดังกล่าว เป็นเงินที่ผู้ขอเครดิตจะได้คืนเป็นการเรียกร้องเงินที่เสียภาษีผ่านทางบริษัทที่ตนถือหุ้นอยู่คืน แต่ทั้งนี้และทั้งนั้นนักลงทุนต้องเข้าใจด้วยว่าเงินที่ขอเครดิตภาษีได้นั้นจะต้องถูกรวมเป็นรายได้ไปด้วย ในการขอเครดิตภาษีรายได้จะเพิ่มขึ้นมาเท่ากับเงินปันผลรวมกับเงินเครดิตภาษี (ประเมินรายได้ตอนที่ยังไม่ได้เสียภาษีผ่านทางบริษัทและมาเสียภาษีในรูปแบบบุคคลธรรมดา) ทำแบบนี้จึงจะยุติธรรมทั้งสรรพากรและตัวนักลงทุน
ในการขอเครดิตภาษีนั้นนักลงทุนจะต้องขอเครดิตภาษีจากเงินปันผลของหุ้นทุกตัวที่ได้รับในปีภาษีนั้น จะละเว้นไม่ขอเครดิตภาษีเงินปันผลจากหุ้นตัวใดตัวหนึ่งไม่ได้ หรือละเว้นไม่เครดิตเงินปันผลส่วนหนึ่งส่วนใดมิได้
อนึ่งโดยทั่วไปแล้วที่ผมสังเกตเห็นบริษัทจะปันผลจากกำไรที่เสียภาษีในอัตราดังนี้
ร้อยละ 30 เครดิตภาษีเท่ากับ 3/7 ของเงินปันผล
ร้อยละ 25 เครดิตภาษีเท่ากับ 1/3 ของเงินปันผล
ร้อยละ 20 เครดิตภาษีเท่ากับ 1/4 ของเงินปันผล
อัตราอื่น ๆ คำนวณตามสูตรที่ให้มาข้างต้น
ไม่ต้องเสียภาษี เครดิตภาษีไม่ได้ แต่ก็ไม่ต้องเสียภาษีเงินปันผล
เครดิตภาษีไม่ได้ และยังต้องเสียภาษีเงินปันผลอีก ถ้ายื่นขอเครดิตภาษีอย่างดีสุดก็แค่ได้ภาษีเงินปันผลคืน อันนี้เป็นสถาณการณ์ที่แย่ที่สุดเลยก็ว่าได้
มาดูตัวอย่างการคำนวณกัน สมมุติว่านักลงทุน
ได้ปันผลจากหุ้น MCOT 8,400 บาท โดยปันผลมาจากกำไรที่เสียภาษีในอัตราร้อยละ 30 เสียภาษีเงินปันผล 840 บาท
ได้ปันผลจากหุ้น SE-ED 2,370 บาท โดยปันผลมาจากกำไรที่เสียภาษีในอัตราร้อยละ 25 จำนวน 1,290 บาท ปันผลมาจากกำไรที่เสียภาษีในอัตราร้อยละ 30 จำนวน 1,080 บาท เสียภาษีเงินปันผลไป 237 บาท
ได้ปันผลจากหุ้น GLOW 780.40 บาท โดยปันผลมาจากกำไรที่ได้รับการยกเว้นภาษีจำนวน 160 บาท ปันผลมาจากกำไรที่ไม่สามารถเครดิตภาษีได้จำนวน 620.40 บาท ในการแจ้งรายได้จากเงินปันผลแก่สรรพากรจะต้องแจ้งทั้งหมด แต่เวลาคำนวณรายได้จากเงินปันผลจะคำนวณเฉพาะส่วนที่เสียภาษีเท่านั้นคือ 620.40 บาท เสียภาษีเงินปันผลไป 62.04 บาท
รวมแล้วได้เงินปันผลมาจากกำไรส่วนที่เสียภาษีในอัตราร้อยละ 30 เท่ากับ 9,480 บาท เครดิตภาษีได้ 3/7 ของ 9,480 บาท เท่ากับ 4,062.86 บาท
ได้เงินปันผลมาจากกำไรส่วนที่เสียภาษีในอัตราร้อยละ 25 เท่ากับ 1,290 บาท เครดิตภาษีได้ 1/3 ของ 1,290 บาท เท่ากับ 430 บาท
รวมแล้วเครดิตภาษีได้เท่ากับ 4,492.86 บาท
รายได้จากเงินปันผลที่ต้องเสียภาษีเท่ากับ 11,390.40 บาท
เสียภาษีเงินปันผลไป 1,139.04 บาท
หากนักลงทุนยื่นขอเครดิตภาษีนักลงทุนจะต้องมีรายได้ที่ต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้นมาเท่ากับเงินปันผลที่ต้องเสียภาษีรวมกับเงินที่เครดิตภาษีได้ ในที่นี้คือ 15,883.26 บาท แต่นักลงทุนจะได้ภาษีที่เสียผ่านทางบริษัทที่นักลงทุนถือหุ้นอยู่(เงินที่เครดิตภาษีได้)และภาษีเงินปันผลคืน ในที่นี้คือ 5,631.90 บาท
นักลงทุนจะต้องประเมินเองว่าตนสมควรจะขอเครดิตภาษีหรือไม่ หากรายได้ของนักลงทุนน้อยมาก แม้กระทั่งรวมรายได้ที่เพิ่มขึ้นมาจากการขอเครดิตภาษีแล้วยังอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่ต้องเสียภาษี นักลงทุนจะได้คืนภาษีเป็นจำนวนเงินที่เครดิตได้รวมกับภาษีเงินปันผล
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น