วันอังคารที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2555

สวรรค์เต็ม

ผมมีนิทานสุดคลาสสิคเรื่องหนึ่งมานำเสนอแก่ผู้อ่าน มีชายคนหนึ่งเขาตายไปแล้วและอยากไปสวรรค์ แต่ปรากฎว่าสวรรค์เต็ม ผู้ดูแลประตูสวรรค์บอกแก่เขาว่า ถ้าอยากไปสวรรค์จริง ๆ จะต้องรอให้มีคนออกมาก่อน เขาจึงจะเข้าไปแทนได้ ชายดังกล่าวไม่รู้จะทำอย่างไรดี อยู่ดี ๆ จะไปข่มขู่ให้คนออกจากสวรรค์ก็ไม่ได้ ตนก็ไม่ได้มีอำนาจหรือความน่าเกรงขามจนคนอื่น ๆ ต้องมายำเกรง หรือจะไล่ฆ่าคนที่อยู่บนสวรรค์เพื่อให้สวรรค์โล่งขึ้น ตนจะได้เข้าไปในสวรรค์แทนก็แลดูโหดไป
           ชายดังกล่าวขบคิดอยู่นานก็คิดได้วิธีหนึ่งคือปล่อยข่าวลือว่านรกมีอาหารที่อยู่สุดแสนสบาย ชนิดที่เรียกได้ว่าสบายกว่าอยู่บนสวรรค์เสียอีก เมื่อชาวสวรรค์ได้ข่าวนี้ บางส่วนก็หลงเชื่อและยินดีที่จะออกจากสวรรค์เพื่อไปยังนรกแทน
            ถึงตอนนี้สวรรค์เริ่มว่างแล้ว ผู้ดูแลประตูสวรรค์จึงเชิญให้ชายดังกล่าวเข้าไปในสวรรค์ได้แล้ว เพราะเริ่มมีที่ว่างแล้ว แต่สิ่งที่เหลือเชื่อกว่านั้น ชายดังกล่าวเชื่อข่าวลือที่ตนเป็นคนปล่อยและคิดว่านรกดีกว่าสวรรค์ตามข่าวลือที่ตนเป็นคนปล่อยเองแท้ ๆ อาการลักษณะนี้จะเรียกได้ว่าของเข้าตัวก็ว่าได้

            ถึงตอนนี้ผู้อ่านเริ่มเห็นพลานุภาพของข่าวลือหรือยังครับ ในวงการตลาดหุ้นมีข่าวลือมากมาย ผู้ได้รับข่าวสารควรจะเฝ้าสังเกตศึกษาจนเห็นจริงตามนั้นและได้ผ่านการพิจารณาไตร่ตรองดีแล้วจึงค่อยเชื่อ
            นักลงทุนที่ดีเมื่อได้รับข้อมูลข่าวสารใด ๆ ไม่ควรเขื่อใครง่าย ๆ เพราะนี่อาจจะเป็นกับดักเพื่อให้คุณเป็นเหยื่อก็ย่อมได้ หรือหลอกล่อเพื่อชิงหุ้นดี ๆ จากคุณ  

วันเสาร์ที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2555

มหัศจรรย์แห่งเลข 240

          เราเคยได้ยินกันถึงเรื่องราวของเลข 72 มาแล้ว กล่าวคือถ้านำเลข 72 มาหารด้วยอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปี จะได้ระยะเวลาลงทุนที่ทำให้เงินเพิ่มเป็น 2 เท่าตัว อัตราผลตอบแทนนั้นไม่ควรจะเกินร้อยละ 20 ค่าจึงจะใกล้เคียงความเป็นจริงมากที่สุด แต่ในความเป็นจริงนั้นการที่จะได้อัตราผลตอบแทนร้อยละ 20 ต่อปีในระยะยาวเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก เพราะอัตราผลตอบแทนดังกล่าวค่อนข้างสูงและใกล้เคียงกับอัตราผลตอบแทนของนักลงทุนบันลือโลกอย่างวอเร้นท์ บัฟเฟต
          ผมขอแนะนำตัวเลขอีกตัวหนึ่งคือ 240 ตัวเลขดังกล่าวถ้านำไปหารด้วยอัตราผลตอบแทนต่อปีจะได้ระยะเวลาลงทุนที่ทำให้เงินที่ลงทุนไปมีเลข 0 เติมท้าย (เพิ่มเป็น 10 เท่านั่นเอง)  เช่น ถ้าอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนเป็นร้อยละ 10 ต่อปี ก็จะต้องใช้เวลาลงทุน 24 ปี เงินที่ลงทุนจึงจะงอกเงยเป็น 10 เท่า ผมลองคำนวณแล้วใช้เวลาประมาณ 24.15 ปี ค่อนข้างใกล้เคียง
          มีผู้วิจัยกันว่าการลงทุนในหุ้นจะให้ผลตอบแทนโดยเฉลี่ยในระยะยาวอยู่ที่ร้อยละ 10 ต่อปี ผมจึงเลือกอัตราผลตอบแทนนี้มาคำนวณให้ผู้อ่านดูกัน
         

วันพฤหัสบดีที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2555

เครดิตภาษีเงินปันผล

เครดิตภาษีเงินปันผลคืออะไรนั้น ผมขอแนะนำให้ดูตัวอย่างอันนี้เพื่อผู้อ่านจะได้เข้าใจอย่างลึกซึ้ง สมมุติว่า ผมเปิดบริษัทขึ้นมาบริษัทหนึ่งชื่อบริษัทติงต๊อง และผมถือหุ้นใหญ่แต่เพียงผู้เดียวบริษัทนี้มีนโยบายจ่ายปันผลเป็นกำไรสุทธิทั้งหมดของบริษัท สมมุติว่าปีนี้ทั้งปีบริษัททำกำไรได้ 100 บาท เสียภาษีร้อยละ 30 เสียภาษีไป 30 บาท เหลือกำไรสุทธิหลังหักภาษีเท่ากับ 70 บาท จ่ายปันผล 70 บาท ก่อนที่เงินปันผลจะถึงมือผมจะต้องเสียภาษีเงินปันผลอีกร้อยละ 10 สรุปเสียภาษีเงินปันผลไปอีก 7 บาท เหลือเงินปันผลเพียง 63 บาทเท่านั้นที่ถึงมือผมจากกำไร 100 บาท เรื่องนี้ไม่ค่อยจะยุติธรรมสำหรับผมนัก ผมจึงร้องเรียนไปที่สรรพากรเพื่อขอภาษีคืน ทั้งภาษีที่หักจากบริษัทและภาษีเงินปันผล โดยสรุปแล้วเครดิตเงินปันผลคือการเรียกร้องขอคืนภาษีที่จ่ายผ่านบริษัทกลับคืนมา
         มาดูกันว่ารายละเอียดการขอเครดิตมีอะไรบ้าง บริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ที่นักลงทุนซื้อหุ้นกันอยู่นั้นบางบริษัทก็จ่ายเงินปันผลจากกำไรในส่วนที่เสียภาษีในอัตราที่แตกต่างกัน ที่ผมเห็นก็มีเงินปันผลบางส่วนนำมาจากกำไรในส่วนที่เสียภาษีร้อยละ 30 บ้าง ร้อยละ 20 บ้าง ร้อยละ 10 บ้าง ไม่ต้องเสียภาษีบ้าง เครดิตภาษีไม่ได้บ้าง(นำภาษีที่บริษัทจ่ายไปคืนกลับมาไม่ได้) ผมขอสรุปเป็นสูตรในการคำนวณ เครดิตภาษี = อัตราภาษีที่จ่าย/(100 - อัตราภาษีที่จ่าย) คูณเงินปันผล เช่นบริษัทแห่งหนึ่งปันผลจากกำไรที่เสียภาษีในอัตราร้อยละ 30 บาท ปันผลจำนวน 4,000 บาท เงินที่เครดิตได้ = 30/(100 - 30) ของเงินปันผล = 3/7 ของ 4,000 บาท เท่ากับ 1,714.29 บาท เงินจำนวนดังกล่าว เป็นเงินที่ผู้ขอเครดิตจะได้คืนเป็นการเรียกร้องเงินที่เสียภาษีผ่านทางบริษัทที่ตนถือหุ้นอยู่คืน แต่ทั้งนี้และทั้งนั้นนักลงทุนต้องเข้าใจด้วยว่าเงินที่ขอเครดิตภาษีได้นั้นจะต้องถูกรวมเป็นรายได้ไปด้วย ในการขอเครดิตภาษีรายได้จะเพิ่มขึ้นมาเท่ากับเงินปันผลรวมกับเงินเครดิตภาษี (ประเมินรายได้ตอนที่ยังไม่ได้เสียภาษีผ่านทางบริษัทและมาเสียภาษีในรูปแบบบุคคลธรรมดา) ทำแบบนี้จึงจะยุติธรรมทั้งสรรพากรและตัวนักลงทุน
        ในการขอเครดิตภาษีนั้นนักลงทุนจะต้องขอเครดิตภาษีจากเงินปันผลของหุ้นทุกตัวที่ได้รับในปีภาษีนั้น จะละเว้นไม่ขอเครดิตภาษีเงินปันผลจากหุ้นตัวใดตัวหนึ่งไม่ได้ หรือละเว้นไม่เครดิตเงินปันผลส่วนหนึ่งส่วนใดมิได้
         อนึ่งโดยทั่วไปแล้วที่ผมสังเกตเห็นบริษัทจะปันผลจากกำไรที่เสียภาษีในอัตราดังนี้
                      ร้อยละ 30 เครดิตภาษีเท่ากับ 3/7 ของเงินปันผล
                      ร้อยละ 25 เครดิตภาษีเท่ากับ 1/3 ของเงินปันผล
                      ร้อยละ 20 เครดิตภาษีเท่ากับ 1/4 ของเงินปันผล
                      อัตราอื่น ๆ คำนวณตามสูตรที่ให้มาข้างต้น
                      ไม่ต้องเสียภาษี เครดิตภาษีไม่ได้ แต่ก็ไม่ต้องเสียภาษีเงินปันผล
                      เครดิตภาษีไม่ได้ และยังต้องเสียภาษีเงินปันผลอีก ถ้ายื่นขอเครดิตภาษีอย่างดีสุดก็แค่ได้ภาษีเงินปันผลคืน อันนี้เป็นสถาณการณ์ที่แย่ที่สุดเลยก็ว่าได้
  มาดูตัวอย่างการคำนวณกัน สมมุติว่านักลงทุน
ได้ปันผลจากหุ้น MCOT  8,400 บาท โดยปันผลมาจากกำไรที่เสียภาษีในอัตราร้อยละ 30 เสียภาษีเงินปันผล 840 บาท
 ได้ปันผลจากหุ้น SE-ED 2,370 บาท โดยปันผลมาจากกำไรที่เสียภาษีในอัตราร้อยละ 25 จำนวน 1,290 บาท ปันผลมาจากกำไรที่เสียภาษีในอัตราร้อยละ 30 จำนวน 1,080 บาท เสียภาษีเงินปันผลไป 237 บาท
ได้ปันผลจากหุ้น GLOW 780.40 บาท โดยปันผลมาจากกำไรที่ได้รับการยกเว้นภาษีจำนวน 160 บาท ปันผลมาจากกำไรที่ไม่สามารถเครดิตภาษีได้จำนวน 620.40 บาท ในการแจ้งรายได้จากเงินปันผลแก่สรรพากรจะต้องแจ้งทั้งหมด แต่เวลาคำนวณรายได้จากเงินปันผลจะคำนวณเฉพาะส่วนที่เสียภาษีเท่านั้นคือ 620.40 บาท เสียภาษีเงินปันผลไป 62.04 บาท
         รวมแล้วได้เงินปันผลมาจากกำไรส่วนที่เสียภาษีในอัตราร้อยละ 30 เท่ากับ 9,480 บาท เครดิตภาษีได้ 3/7 ของ 9,480 บาท เท่ากับ 4,062.86 บาท
                     ได้เงินปันผลมาจากกำไรส่วนที่เสียภาษีในอัตราร้อยละ 25 เท่ากับ 1,290 บาท เครดิตภาษีได้ 1/3 ของ 1,290 บาท เท่ากับ 430 บาท
         รวมแล้วเครดิตภาษีได้เท่ากับ 4,492.86 บาท
         รายได้จากเงินปันผลที่ต้องเสียภาษีเท่ากับ 11,390.40 บาท
         เสียภาษีเงินปันผลไป 1,139.04 บาท
         หากนักลงทุนยื่นขอเครดิตภาษีนักลงทุนจะต้องมีรายได้ที่ต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้นมาเท่ากับเงินปันผลที่ต้องเสียภาษีรวมกับเงินที่เครดิตภาษีได้ ในที่นี้คือ 15,883.26 บาท แต่นักลงทุนจะได้ภาษีที่เสียผ่านทางบริษัทที่นักลงทุนถือหุ้นอยู่(เงินที่เครดิตภาษีได้)และภาษีเงินปันผลคืน ในที่นี้คือ 5,631.90 บาท
         นักลงทุนจะต้องประเมินเองว่าตนสมควรจะขอเครดิตภาษีหรือไม่ หากรายได้ของนักลงทุนน้อยมาก แม้กระทั่งรวมรายได้ที่เพิ่มขึ้นมาจากการขอเครดิตภาษีแล้วยังอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่ต้องเสียภาษี นักลงทุนจะได้คืนภาษีเป็นจำนวนเงินที่เครดิตได้รวมกับภาษีเงินปันผล

คุยเฟื่องเรื่องเก็งกำไรตอนที่ 2

     ถ้าพูดถึงนักลงทุนที่นิยมการเก็งกำไร ผมซึ่งลงทุนในแนววิธีเน้นคุณค่าของบริษัท ก็จะต้องกล่าวคำขอบคุณแก่นักลงทุนที่ลงทุนแนวเก็งกำไรทั้งหลายที่ช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้กับหุ้น เพราะถ้าขาดพวกเขา สภาพคล่องของตลาดจะลดลง     
      โดยส่วนตัวผมเองก็ไม่อยากให้นักลงทุนทุกคนลงทุนแนววิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานของหุ้นกันหมด ในตลาดหลักทรัพย์นั้นควรจะมีนักลงทุนหลายประเภท หลายแนวทาง เพื่อให้มีโอกาสได้ศึกษาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในบรรดานักลงทุน
         ถ้าพูดถึงเรื่องเก็งกำไรนั้นผมเองก็เคยลองทำดูแล้ว เคยมีหุ้นตัวหนึ่งราคาเปลี่ยนไปมาระหว่างราคารอซื้อ(BID) กับราคารอขาย(OFFER) เปลี่ยนไปมาอยู่แค่นี้เป็นอาทิตย์ ผมเกิดความคิดเล่น ๆ ว่าถ้าเราสามารถซื้อหุ้นได้ในราคา BID และไปขายในราคา OFFER ทำแบบนี้ทุกวัน เราก็จะได้กำไรทุกวัน บังเอิญผมมีหุ้นตัวนั้นอยู่ผมตัดสินใจขายหุ้นตัวนั้นในราคา OFFER และกะจะมาส่งคำสั่งซื้อหุ้นคืนในราคาที่ถูกกว่า  บางครั้งราคาหุ้นก็ลงมาถึงราคาที่ผมตั้งซื้อไว้ แต่ยังไม่ถึงคิวของผม ผมจึงยังซื้อหุ้นไม่ได้ สักพักราคาวิ่งขึ้นไปอีกเล็กน้อยประมาณ 2 ช่อง ผมก็คิดว่าเดี๋ยวมันก็ลง แต่สิ่งที่เหลือเชื่อกว่านั้นทั้งวันราคาก็ยังไม่ลงมาถึงราคาที่ผมตั้งซื้อไว้เลย วันรุ่งขึ้นผมก็ตัดสินใจซื้อหุ้นนั้นในราคาที่แพงกว่าตอนขาย 2 ช่อง เพราะผมเองก็ยังอยากถือหุ้นตัวนั้นอยู่ สรุปแล้วธุรกรรมการเก็งกำไรครั้งนี้ทำให้ผมขาดทุนหลักร้อยบาท แต่ก็ถือว่าเป็นค่าเล่าเรียน ทำให้เรารู้จักตนเองมากขึ้น เข้าใจจิตใจของตนเองมากขึ้น ประเด็นนี้อาจเกิดจากการที่ผมเก็งกำไรหุ้นผิดตัว และอาจจะเกิดความโลภไปชั่วขณะ จึงหลงผิดไปตามแรงกิเลสกระทำการในสิ่งที่ตนเองไม่ถนัดเลย
         ถ้าพูดถึงเรื่องเทคนิคการเก็งกำไร จากประสบการณ์อันน้อยนิดปีเศษ ๆ (ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2554) ที่พอจะนึกออกคือพยายามตั้งซื้อหุ้นตัวหนึ่งที่ราคา 0.01 บาท และรอขายในราคาหุ้นละ 0.02 บาท โดยปกติแล้วหุ้นแบบนี้มักจะเป็นกิจการที่ขาดทุนอยู่ เตรียมออกจากตลาดหลักทรัพย์ อาจจะถูกคำสั่งห้ามซื้อขายเมื่อไรก็ได้ ถ้าผมซื้อหุ้นได้ในราคา 0.01 บาท ความเสี่ยงแทบจะไม่เกิดกับผม เพราะราคาหุ้นไม่มีทางลงไปกว่านี้แล้วเว้นแต่มีรายการแตกพาร์ หรือหุ้นออกจากตลาด ผมประเมินดูแล้วโอกาสน้อยมาก ผมเชื่อว่าผมจะสามารถขายหุ้นได้ก่อนในราคา 0.02 บาท ถ้าทำสำเร็จผมจะได้กำไร 100% (ยังไม่ได้คิดค่านายหน้า) หากการเก็งกำไรครั้งนี้ล้มเหลวหุ้นที่ผมซื้ออยู่ออกจากตลาดไป ผมก็จะขาดทุนแค่เงินที่ผมลงทุนซื้อหุ้นตัวนั้นไป เมื่อเทียบกับผมตอบแทนที่จะได้รับกับผลเสียที่จะเกิดขึ้นแล้ว รวมถึงโอกาสล้มเหลวและโอกาสสำเร็จแล้ว ผมพบว่าคุ้มค่ากับความเสี่ยง ในการซื้อหุ้นนั้นเราจะต้องเลือกหุ้นที่เสี่ยงคุ้มค่ากับผลตอบแทนที่ได้รับ จะต้องประเมินว่าถ้าเหตุการณ์ร้าย ๆ ที่สุด เกิดขึ้น เราจะรับมือกับสถาณการณ์นั้นได้หรือไม่ รวมถึงจะต้องศึกษาความน่าจะเป็นของการเกิดเหตุการณ์ด้วย แต่สิ่งที่เหลือเชื่อผมตั้งซื้อหุ้นดังกล่าวมาเป็นเวลาเกือบครึ่งปีแล้วก็ไม่เคยซื้อได้เสียที
        อีกแนวทางหนึ่งคือเก็งกำไรเงินปันผล โดยมากแล้วถ้าหุ้นตัวไหนจ่ายเงินปันผลได้สม่ำเสมอมักจะเป็นหุ้นที่พื้นฐานดี หากเก็งกำไรพลาดซื้อแล้วหุ้นลงก็ยังพอถูไถถือลงทุนไปได้ ช่วงนี้อีกไม่กี่เดือนก็จะเริ่มเป็นหน้าเทศกาลการประกาศจ่ายเงินปันผล หากนักลงทุนคาดการณ์ถูก ซื้อเก็บไว้ก่อนราคาจะขึ้นตอบสนองการจ่ายปันผล เมื่อมีการจ่ายปันผล นักลงทุนก็จะได้กำไรแบบง่าย ๆ ได้เงินปันผลโดยที่ไม่ได้ถือหุ้นนานมากนัก หรือนักลงทุนไม่อยากถือหุ้นนานจนได้เงินปันผล จะขายหุ้นออกไปก่อนทันทีที่ราคาหุ้นขึ้นสนองต่อเงินปันผลที่ได้รับแล้วก็ได้ และหาซื้อหุ้นตัวใหม่ที่ราคายังไม่สนองต่อการจ่ายเงินปันผลก็ได้ (เรื่องนี้ผมเองก็ยังไม่เคยลองทำเพราะกลัวเรื่องค่านายหน้าอยู่และมีความรู้สึกว่าการกระโจนซื้อขายหุ้น ออกจากหุ้นนี้มาหุ้นนี้จัดเป็นความเสี่ยงอยู่ หากเราพลาดซื้อหุ้นผิดตัวความเสียหายอาจจะเกิดขึ้นได้ไม่คุ้มกับผลตอบแทนที่ได้รับ) แต่ทั้งนี้และทั้งนั้นเช่นเดิม ถึงแม้จะเป็นการเก็งกำไรนักลงทุนก็ต้องคำนึงถึงความคุ้มค่าด้วย จะต้องคำนึงถึงผลตอบแทนที่ได้รับเมื่อเทียบกับเงินที่ใช้ในการลงทุนซื้อหุ้น
         อีกแนวทางหนึ่งการใช้กราฟทางเทคนิคเข้ามาช่วยในการวิเคราะห์หุ้น เรื่องนี้ผมเองกำลังศึกษาอยู่อย่างน้อยก็จะช่วยให้เข้าใจพฤติกรรมของนักลงทุนคนอื่น ๆ ที่นิยมใช้กราฟทางเทคนิคกัน หากได้ความ ได้เนื้อหาอะไรที่มันดูเข้าท่า ผมจะรีบนำมาเสนอแก่ผู้อ่านทันที
          อีกประเด็นหนึ่งที่ผมคิดว่าน่ากลัวมากคือการที่คิดว่าตนเองลงทุนแต่จริง ๆ แล้วเป็นการเก็งกำไรต่างหากและเป็นการเก็งกำไรที่ตนเองยังไม่รู้ตัวเลย เป็นการเชื่อตามกันไปอย่างนั้นเอง กระแสที่ผมเห็น ณ ตอนนี้คือการซื้อหุ้นตามเซียนหุ้นแนว VI หรือที่รู้จักกันคือนักลงทุนแนวเน้นคุณค่า ถ้านักลงทุนจะซื้อตามเขาก็ไม่ผิดอะไรแต่ต้องดูด้วยว่าราคาที่เราซื้อนั้นถูกหรือแพงกว่าเขาอย่างไร ต่อให้หุ้นนั้นเป็นหุ้นดีแค่ไหน แต่ถ้าซื้อในราคาที่แพงเกินไป นักลงทุนที่ซื้อหุ้นก็ย่อมจะได้ผลตอบแทนไม่คุ้มค่ากับเงินลงทุน ผมขอจบการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นแต่เพียงแค่นี้

คุยเฟื่องเรื่องเก็งกำไรตอนที่ 1

      มีคำถามที่น่าสนใจอย่างหนึ่งที่ผมได้รับคำถามจากชาว webbroad คำถามคือทำไมนักลงทุนจึงชอบเก็งกำไร และการเก็งกำไรทำให้นักลงทุนได้กำไรและร่ำรวยได้จริงหรือ ผมอยากให้นักลงทุนที่คิดว่าจะได้กำไรง่าย ๆ จากการเก็งกำไร ยิ่งซื้อขายวันต่อวันแบบไม่ให้มีหุ้นข้ามวันเลย ลองตรึกตรองให้ดี สมมุติเสียค่านายหน้า 0.15% (ส่งคำสั่งซื้อขายด้วยตนเองทาง internet) ถ้านักลงทุนซื้อและขายหุ้นในวันเดียวจะเสียค่านายหน้าแบบไปกลับรวมเป็น 0.30% สมมุติว่าในปีหนึ่งซื้อขายได้ 200 วัน จะเสียค่านายหน้า 60% ผมไม่รู้ว่านักลงทุนจะได้กำไรเท่าไรจากการเก็งกำไร แต่ที่รู้ ๆ นักลงทุนจะเสียค่านายหน้า 60% ประมาณให้ต่ำ ๆ สมมุติว่าไม่ได้ซื้อขายแบบนี้ทุกวัน บางวันก็ถือหุ้นข้ามวันบ้าง กะว่าเสียค่านายหน้า 20% ต่อปี มันก็ยังเยอะอยู่ดี ดังนั้นการเก็งกำไรจึงไม่ใช่ทางเลือกที่ดีเลย สาเหตุที่นักลงทุนบางคนยังเก็งกำไรอยู่น่าจะเป็นเพราะว่านักลงทุนเหล่านั้นมีความเชื่อว่าการถือหุ้นข้ามวันเป็นความเสี่ยง เพราะเห็นราคาหุ้นวิ่งผันผวนไปมา จึงเกิดอารมณ์กลัวทำให้ไม่กล้าถือหุ้นนาน บางครั้งเห็นราคาหุ้นวิ่งขึ้นเกิดอาการโลภเข้าครอบงำรีบขายหุ้นในราคาที่ไม่สูงมากนัก หักค่านายหน้าแล้วได้กำไรเพียงน้อยนิดไม่คุ้มค่ากับความเสี่ยง ถ้านักลงทุนใช้สติตรึกตรองจะพบว่า การลงทุนลักษณะดังกล่าวถ้านักลงทุนเก็งกำไรผิดพลาดคือซื้อแล้วหุ้นราคาลง แน่นอนนักลงทุนจะต้องขาดทุนทั้งราคาหุ้นที่ตกลงบวกกับค่านายหน้า แต่พอเวลาได้กำไรก็จะมีค่านายหน้ามาลบผลกำไร ดูแค่นี้ก็รู้แล้วว่าในระยะยาวนักลงทุนมีโอกาสขาดทุนค่อนข้างมาก สาเหตุที่นักลงทุนบางคนยังลงทุนลักษณะดังกล่าว เพราะเชื่อว่าตนสามารถทำนายราคาหุ้นได้อย่างแม่นยำ ตนรู้ว่าเมื่อไรหุ้นจะลง เมื่อไรหุ้นจะขึ้น ตนรู้จักขาใหญ่แห่งวงการหุ้น ซึ่งไม่ต่างอะไรไปจากคนที่พยายามเล่นหวยโดยหาเลขเด็ดจากอาจารย์ดัง ๆ แน่นอนอาจจะมีใครสักคนที่ร่ำรวยอย่างมหาศาลจากการเล่นหวยหรือซื้อหุ้นแบบเก็งกำไร ผมเชื่อว่ามีน้อยคนมาก ๆ ที่จะทำได้แบบนั้น โดยสรุปแล้วทั้งหมดนี้เกิดจากความหลงผิด ความโลภ ความกลัว จึงทำให้เกิดกิเลสเข้าครอบงำ เกิดความหลงผิด ทำให้ทำอะไรที่ขาดสติอย่างร้ายแรง
       อีกสาเหตุที่นักลงทุนบางคนยังจะเก็งกำไรกันอยู่ อาจจะเป็นเพราะเขาเชื่อว่ามันเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้เขาได้เงินอย่างมหาศาลเพื่อชดเชยกลับเงินที่เสียไป เพราะนักลงทุนรับไม่ได้ที่ตนขาดทุน เกิดความพ่ายแพ้ กลัวเสียหน้า ทนยอมรับในความผิดพลาดของตนไม่ได้ จึงลองเสี่ยงดวงดูเผื่อโอกาสอันเล็กน้อยจะเกิดขึ้นและทำให้เขาได้เงินคืน นั้นคือสาเหตุที่ใครบางคนหลงมัวเมาในการพนันเพราะเขาไม่อยากแพ้ ไม่อยากขึ้นชื่อว่าเสียเงินจากการเล่นการพนัน ท้ายที่สุดแล้วเขาก็จะหมดตัวเพราะการพนันอย่างสิ้นเชิงถ้าหากเขายังไม่ได้สติขึ้นมา
        สำหรับนักลงทุนที่หวังอยากเก็งกำไรผมก็ไม่ห้ามเพราะเป็นสิทธิของนักลงทุนแต่ละคน แต่อยากจะบอกว่า น่าจะดูพื้นฐานหุ้นประกอบด้วย ผลประกอบการในอดีต ประวัติการจ่ายปันผล เป็นต้น และพยายามคาดการณ์ผลประกอบการในอนาคต พยามยามประมาณผลตอบแทนที่ได้รับจากหุ้นนั้น ๆ  ทันที่ที่ซื้อหุ้นแล้ว ราคาเกิดลงขึ้นมา นักลงทุนสามารถถือหุ้นตัวนั้นไว้ได้เพราะนักลงทุนซื้อหุ้นในราคาที่เหมาะสมกับผลตอบแทนที่จะได้รับ และควรจะถือหุ้นให้นานสักระยะหนึ่งเพื่อลดค่านายหน้า
  

ทำไมต้องลงทุนในหุ้น

       ทำไมต้องลงทุนในตราสารทางการเงิน บางคนอาจจะมีความเห็นว่าเอาเงินไปซื้อที่ดินเพื่อเก็งกำไร หรือลงทุนอสังหาริมทรัพย์ไม่ดีกว่าเหรอ
        การซื้อที่ดินนั้นนานวันเข้ามูลค่าของที่ดินโดยส่วนใหญ่จะต้องเพิ่มขึ้นเนื่องจากพื้นที่ที่ดินมีเท่าเดิมแต่จำนวนประชากรเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ความต้องการจึงต้องมีมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ปริมาณของมีเท่าเดิมราคาก็ต้องขึ้น แต่ก็มียกเว้นเช่นที่ดินที่โดนน้ำท่วมหรือประสบเหตุที่ทำให้ไม่น่าอยู่อาศัยหรือใช้ประโยชน์ได้ เช่น ไฟฟ้าไม่เข้า น้ำไม่ไหล การสาธารณูปโภคเข้าไม่ถึงเป็นต้น
        ถ้าเราจะลองทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ดูบ้าง ทำอพาร์ทเมนท์ให้คนเช่าก็ดีนะ ถ้าผมมีเงินมาก ๆ ผมยังเคยคิดว่าจะทำเลย แต่ในความเป็นจริงแล้ว ทำอพาร์ทเมนท์ให้คนเช่า คนที่ทำธุรกิจก็ต้องลงแรงอยู่บ้าง เช่นหาคนมาเช่า เวลาอพาร์ทเมนท์หรือบ้านที่นักลงทุนปลูกเพื่อให้คนเช่า หรือตึกแถว พื้นที่ตลาดที่ลงทุนทำขึ้นมาเพื่อหวังกินค่าเช่ามีปัญหาเจ้าของก็ต้องมาดูแล เจ้าของหรือนักลงทุนก็ต้องเสียเวลามาบริหารอยู่ดี มาแก้ปัญหาท่อตันบ้างตามอพาร์ทเมนท์ ตึกแถวไม่สะอาดบ้าง ตลาดสกปรกบ้าง โดยรวมแล้วเจ้าของก็ต้องมาดูแลแก้ปัญหา มันเหมือนกับว่าเจ้าของเป็นผู้รับใช้ของผู้เช่าอย่างไรก็ไม่รู้ แม้ว่านักลงทุนหรือเจ้าของจะลงทุนจ้างผู้จัดการมาบริหารแทนตน นักลงทุนหรือเจ้าของก็ต้องมาคอยดูแลกิจการของตนอยู่ดี มีความเป็นไปได้อย่างมากที่จะผู้บริหารจะทำกิจการให้กำไรไม่ดีเท่าที่ควรก็ในเมื่อไม่ใช่กิจการของเขา และถ้าปัญหาต่าง ๆ พวกนี้ไม่เกิดขึ้น
        การลงทุนซื้อที่ดินหรือทำอสังหาริมทรัพย์ก็ต้องใช้เงินมาก น้อยคนนักที่จะใช้เงินส่วนตัวมาทำธุรกิจนี้ได้เลย บางคนก็ต้องกู้เงินธนาคารมา บางคนก็ต้องรวมเงินกับเพื่อนกับญาติพี่น้องมา ไหนจะเรื่องหนี้สินกับธนาคารหรือปัญหากับหุ้นส่วนผู้ร่วมลงเงินกับเรา ปัญหาที่แน่ ๆ ที่เกิดขึ้นก็คือปัญหาเรื่องสภาพคล่อง ทรัพย์สินเหล่านี้แปลงเป็นเงินได้ยากลำบากมากเมื่อเทียบกับหุ้น แม้จะเทียบกับหุ้นที่มีสภาพคล่องต่ำ ๆ ก็ตาม หายากมากที่จะเจอหุ้นที่ตลอดอาทิตย์ไม่มีคนมาตั้งซื้อหุ้นเลย เว้นแต่หุ้นนั้นแย่จริง ๆ         
        ถ้าเราจะทำธุรกิจส่วนตัวดูบ้าง ถ้าเป็นธุรกิจSMEแน่นอนเจ้าของธุรกิจก็ต้องลงมาบริหารดูแลกิจการของตนเองแม้ว่าจะมีลูกจ้างก็ต้องบริหารการทำงานของลูกจ้าง
        เราลองมาพิจารณาในเรื่องของการลงทุนในตราสารทางการเงินดูบ้าง เริ่มจากตั๋วเงินฝาก ฝากประจำ ฝากออมทรัพย์ หุ้นกู้ ในความคิดเห็นส่วนตัวของผมมองว่า จริงอยู่มันแทบไม่มีความเสี่ยงใด ๆ เลย แต่ผลตอบแทนมันน้อยมากไม่เกินร้อยละ 4 ต่อปี หรืออย่างมากก็ร้อยละ 5 ต่อปี ค่อนข้างใกล้เคียงกับระดับอัตราเงินเฟ้อ เป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่าจริง ๆ เว้นแต่ต้องการเป็นที่พักเงินเพื่อรอจังหวะการลงทุนที่เหมาะสมที่ให้ผลตอบแทนที่หอมหวาน
         ถ้าลองมาพิจารณาในการลงทุนในหุ้นดูบ้าง ผมว่าน่าจะเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า ถ้าสมมุติเราเจอบริษัทในตลาดหลักทรัพย์แห่งหนึ่งทำกำไรในปีที่แล้วได้ 183.74 ล้านบาท รายได้ปีที่แล้ว 910.48 ล้านบาท ปันผลปีที่แล้วคำนวณได้ 156.8 ล้านบาท ทั้งหมดนี้มีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ราคาตลาดของบริษัทนี้หาจากจำนวนหุ้นทั้งหมดคูณกับราคาหุ้นในตลาดได้ 1,666 ล้านบาท ถ้าใช้เงินดังกล่าวก็ซื้อบริษัทได้ทั้งบริษัท(แต่ในความเป็นจริงถ้าจะทำได้ต้องใช้เงินมากกว่านั้นเพราะผมคิดว่าเจ้าของผู้ถือหุ้นใหญ่ก็คงไม่อยากจะขาย) มาดูด้านเงินสดและเงินลงทุนระยะสั้นดูบ้าง เงินสดมีอยู่ 159.45 ล้านบาท เงินลงทุนระยะสั้น 223.76 ล้านบาท ผมดูในหมายเหตุประกอบงบการเงินแล้วพบว่า เงินลงทุนระยะสั้นประกอบด้วยเงินฝากประจำ ตั๋วแลกเงิน หน่วยลงทุน ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นเรื่องของการบริหารเงินจึงอนุมานให้มีค่าเทียบเท่าเงินสดได้ รวมแล้วมีเงินสด 383.21 ล้านบาท สำหรับภาระหนี้สินที่สำคัญมีเงินกู้ยืมระยะสั้นจากสถาบันทางการเงินจำนวน 117.58 ล้านบาท หนี้ระยะยาวไม่มี หักลบแล้วเหลือเงินสด 265.53 ล้านบาท ตอนนี้เงินลงทุนที่ลงไป 1,666 ล้านบาทจึงเหลือเพียงแค่ประมาณ 1,400 ล้านบาท เพราะได้เงินสดที่มีในบริษัทมาครอบครองทันทีที่ซื้อบริษัท
         ถ้าบังเอิญผมมีเงินค่อนข้างน้อยสมมุติลงทุนซื้อกิจการตัวนี้ในรูปของหุ้นจำนวน 140,000 บาท ผมน่าจะได้กำไร 18,374 บาทต่อปี ธุรกิจนี้น่าจะสร้างรายได้ให้ 91,048 บาทต่อปี ในระหว่างลงทุนน่าจะมีเงินปันผลคืนกลับมา 15,680 บาท พิจารณาผลการดำเนินงานที่ผ่านมา ถ้าลงทุนธุรกิจนี้จะได้กำไรคืนทุนโดยใช้เวลาประมาณ 7 ปีกว่า ๆ ได้เงินปันผลร้อยละ 11.2 ต่อปี ซึ่งมีแนวโน้มว่ากิจการจะมีผลการดำเนินงานดีขึ้นเรื่อย ๆ แต่ทั้งนี้และทั้งนั้นผลการดำเนินงานในอดีตไม่ได้การันตีถึงผลการดำเนินงานในอนาคต (ตัวเลขกำไร รายได้ เงินปันผล ได้จากการเทียบอัตราส่วน)
        ตอนนี้ผู้อ่านคิดว่าน่าจะลงทุนในหุ้นที่ดีหรือยังครับ การลงทุนในหุ้นนักลงทุนสามารถนำเงินออกจากหุ้นได้ทันที ทันทีที่พบว่ากิจการนั้น ๆ มีปัญหา ผิดกับทำธุรกิจส่วนตัวทันทีที่พบว่ากิจการนั้นมีปัญหาการโยกเงินหนีไม่ใช่เรื่องง่ายนัก การลงทุนในหุ้นนั้นใช้เงินเริ่มต้นน้อยมากและสภาพคล่องสูงเมื่อเทียบกับการลงทุนอื่น ๆ จึงเป็นเรื่องง่ายที่จะเข้ามาลงทุนหรือถอนตัว
        หรือถ้าผู้อ่านยังชอบที่จะลงทุนในกิจการส่วนตัว ลงทุนอย่างอื่นก็ไม่เป็นไรก็สามารถลงทุนในหุ้นได้ด้วยเหตุผลที่กล่าวข้างต้นและถ้านักลงทุนลงทุนอย่างถูกวิธี การลงทุนในหุ้นจะเปรียบเสมือนการให้เงินทำงานแทนเราอย่างแท้จริง โดยที่ผู้ลงทุนใช้ชีวิตไปตามเดิมของตนได้

ทำไมต้องลงทุน

            ทำไมจึงต้องลงทุนก็ในเมื่อแค่ตั้งใจทำมาหากิน มีเงินก็ฝากธนาคารไม่ดีกว่าเหรอ ผมยอมรับว่าความคิดนี้ถูกต้อง แต่มันใช้ได้กับในอดีตเท่านั้น แต่ก่อนสมัยที่ผมยังเรียนอยู่ชั้นมัธยม ก่อนปีพ.ศ. 2540 อัตราดอกเบี้ยธนาคารสูงมาก เท่าที่ผมรู้จะประมาณร้อยละ 10 ต่อปี ถ้าเป็นผม ผมจะไม่มาลงทุนอะไรให้ปวดหัวหรอก เอาเงินฝากธนาคารอย่างเดียวพอ เอาเวลาไปตั้งใจทำมาหากินดีกว่า มีงานประจำก็ทำไป มีธุรกิจส่วนตัวSMEอะไรก็ทำไป
             แต่ ณ ปัจจุบันนี้ ผู้อ่านลองไปที่ธนาคารจะพบว่า อัตราดอกเบี้ยน้อยมาก น้อยกว่าอัตราเงินเฟ้ออย่างแน่นอน กล่าวคือราคาสินค้าจะแพงขึ้นเรื่อย ๆ แต่อัตราดอกเบี้ยน้อยกว่าอัตราการเพิ่มของราคาสินค้า เมื่อเวลาผ่านไปเงินที่มีอยู่จะซื้อของได้น้อยลงเปรียบได้กับค่าของเงินลดลง การฝากเงินไว้กับธนาคารจึงเหมือนเป็นที่พักเงินเท่านั้น
            ผมอยากเล่าเรื่องสมัยเด็กให้ฟัง ก๋วยเตี๋ยวแถวบ้านราคาชามละ 15 บาท เมื่อ 20 ปีก่อน แต่ ณ ตอนนี้ชามละ 40 บาท มีความรู้สึกว่าปริมาณจะน้อยกว่าตอนเมื่อ 20 ปีก่อนด้วยซ้ำไป จะเห็นได้ว่าราคาก๋วยเตี๋ยวเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 5 ต่อปี ถ้าจะฝากเงินธนาคาร ณ ปัจจุบันนี้คงหายากมากที่ธนาคารจะให้ดอกเบี้ยสูงกว่าร้อยละ 5 ต่อปี ผมเชื่อว่าประสบการณ์นี้ผู้อ่านทุก ๆ คนย่อมเคยเจอ
            ตอนนี้ผมเชื่อว่าผู้อ่านทุกคนน่าจะมองออกแล้วว่า การฝากเงินไว้กับธนาคารไว้เฉย ๆ โดยไม่ทำอะไรรังแต่จะทำให้ค่าของเงินน้อยลง แต่ผู้อ่านบางคนอาจจะแย้งว่าก็ไม่เป็นไร เพราะผมมีเงินเยอะผมต้องการแค่ให้ธนาคารช่วยดูแลเงินของผม ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ต่อไปข้างหน้ารัฐบาลจะไม่ค้ำประกันเงินฝากกับธนาคารแบบเต็มจำนวน ดังนั้นการฝากเงินไว้กับธนาคารจึงเป็นเหมือนกับการร่วมลงทุนกับธนาคาร โดยรับความเสี่ยงไปกับธนาคารและรับอัตราผลตอบแทนเป็นอัตราดอกเบี้ยเพียงเล็กน้อยแพ้อัตราเงินเฟ้อเสียอีก
            จะเห็นได้ว่าทุก ๆ คน ไม่มีทางหลีกหนีการลงทุนได้ แม้คุณจะมองว่าการลงทุนเป็นความเสี่ยงก็ตามที ทางเลือกที่ดีที่สุดก็คือเป็นฝ่ายเลือกการลงทุนที่เหมาะสมที่คาดว่าจะได้อัตราผลตอบแทนคุ้มค่ากับความเสี่ยงเสียเองจะดีกว่า
            แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องนำเงินที่มีทั้งหมดมาลงทุนทันที เริ่มทีละน้อย ค่อย ๆ เป็น ค่อย ๆ ไป อาจจะเริ่มแบบง่าย ๆ เช่น ฝากประจำ ซื้อสลากออมสิน ซื้อพันธบัตรรัฐบาล ซื้อตั๋วแลกเงิน ควรเดินด้วยทางสายกลางไม่สุดโต่งหรือหย่อนจนเกินไป นำเงินส่วนหนึ่งมาใช้ในการลงทุน ผมอยากแนะนำว่าควรจะเป็นเงินเย็นเพื่อจะได้ไม่กดดันตนเอง และในบางครั้งการลงทุนต้องใช้เวลา และที่เหลือจึงเป็นเงินส่วนหนึ่งเพื่อไว้ใช้จ่ายและซื้อสิ่งของต่าง ๆ ที่ตนต้องการตามความพอดีกับฐานะ กันเงินส่วนหนึ่งไว้ใช้จ่ายในยามฉุกเฉิน เราควรดำเนินชีวิตรวมถึงการลงทุนตามแนวทางเศรษฐกิจแบบพอเพียง ไม่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ใช้จ่ายตามกำลังฐานะ
            สุดท้ายนี้ขอให้ผู้อ่านทุกคนสามารถบริหารเงินเพื่อการลงทุน เลือกการลงทุนที่เหมาะสมกับตนเองได้ สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขตามแนวทางเศรษฐกิจแบบพอเพียง