วันพฤหัสบดีที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2555

คุยเฟื่องเรื่องเก็งกำไรตอนที่ 2

     ถ้าพูดถึงนักลงทุนที่นิยมการเก็งกำไร ผมซึ่งลงทุนในแนววิธีเน้นคุณค่าของบริษัท ก็จะต้องกล่าวคำขอบคุณแก่นักลงทุนที่ลงทุนแนวเก็งกำไรทั้งหลายที่ช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้กับหุ้น เพราะถ้าขาดพวกเขา สภาพคล่องของตลาดจะลดลง     
      โดยส่วนตัวผมเองก็ไม่อยากให้นักลงทุนทุกคนลงทุนแนววิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานของหุ้นกันหมด ในตลาดหลักทรัพย์นั้นควรจะมีนักลงทุนหลายประเภท หลายแนวทาง เพื่อให้มีโอกาสได้ศึกษาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในบรรดานักลงทุน
         ถ้าพูดถึงเรื่องเก็งกำไรนั้นผมเองก็เคยลองทำดูแล้ว เคยมีหุ้นตัวหนึ่งราคาเปลี่ยนไปมาระหว่างราคารอซื้อ(BID) กับราคารอขาย(OFFER) เปลี่ยนไปมาอยู่แค่นี้เป็นอาทิตย์ ผมเกิดความคิดเล่น ๆ ว่าถ้าเราสามารถซื้อหุ้นได้ในราคา BID และไปขายในราคา OFFER ทำแบบนี้ทุกวัน เราก็จะได้กำไรทุกวัน บังเอิญผมมีหุ้นตัวนั้นอยู่ผมตัดสินใจขายหุ้นตัวนั้นในราคา OFFER และกะจะมาส่งคำสั่งซื้อหุ้นคืนในราคาที่ถูกกว่า  บางครั้งราคาหุ้นก็ลงมาถึงราคาที่ผมตั้งซื้อไว้ แต่ยังไม่ถึงคิวของผม ผมจึงยังซื้อหุ้นไม่ได้ สักพักราคาวิ่งขึ้นไปอีกเล็กน้อยประมาณ 2 ช่อง ผมก็คิดว่าเดี๋ยวมันก็ลง แต่สิ่งที่เหลือเชื่อกว่านั้นทั้งวันราคาก็ยังไม่ลงมาถึงราคาที่ผมตั้งซื้อไว้เลย วันรุ่งขึ้นผมก็ตัดสินใจซื้อหุ้นนั้นในราคาที่แพงกว่าตอนขาย 2 ช่อง เพราะผมเองก็ยังอยากถือหุ้นตัวนั้นอยู่ สรุปแล้วธุรกรรมการเก็งกำไรครั้งนี้ทำให้ผมขาดทุนหลักร้อยบาท แต่ก็ถือว่าเป็นค่าเล่าเรียน ทำให้เรารู้จักตนเองมากขึ้น เข้าใจจิตใจของตนเองมากขึ้น ประเด็นนี้อาจเกิดจากการที่ผมเก็งกำไรหุ้นผิดตัว และอาจจะเกิดความโลภไปชั่วขณะ จึงหลงผิดไปตามแรงกิเลสกระทำการในสิ่งที่ตนเองไม่ถนัดเลย
         ถ้าพูดถึงเรื่องเทคนิคการเก็งกำไร จากประสบการณ์อันน้อยนิดปีเศษ ๆ (ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2554) ที่พอจะนึกออกคือพยายามตั้งซื้อหุ้นตัวหนึ่งที่ราคา 0.01 บาท และรอขายในราคาหุ้นละ 0.02 บาท โดยปกติแล้วหุ้นแบบนี้มักจะเป็นกิจการที่ขาดทุนอยู่ เตรียมออกจากตลาดหลักทรัพย์ อาจจะถูกคำสั่งห้ามซื้อขายเมื่อไรก็ได้ ถ้าผมซื้อหุ้นได้ในราคา 0.01 บาท ความเสี่ยงแทบจะไม่เกิดกับผม เพราะราคาหุ้นไม่มีทางลงไปกว่านี้แล้วเว้นแต่มีรายการแตกพาร์ หรือหุ้นออกจากตลาด ผมประเมินดูแล้วโอกาสน้อยมาก ผมเชื่อว่าผมจะสามารถขายหุ้นได้ก่อนในราคา 0.02 บาท ถ้าทำสำเร็จผมจะได้กำไร 100% (ยังไม่ได้คิดค่านายหน้า) หากการเก็งกำไรครั้งนี้ล้มเหลวหุ้นที่ผมซื้ออยู่ออกจากตลาดไป ผมก็จะขาดทุนแค่เงินที่ผมลงทุนซื้อหุ้นตัวนั้นไป เมื่อเทียบกับผมตอบแทนที่จะได้รับกับผลเสียที่จะเกิดขึ้นแล้ว รวมถึงโอกาสล้มเหลวและโอกาสสำเร็จแล้ว ผมพบว่าคุ้มค่ากับความเสี่ยง ในการซื้อหุ้นนั้นเราจะต้องเลือกหุ้นที่เสี่ยงคุ้มค่ากับผลตอบแทนที่ได้รับ จะต้องประเมินว่าถ้าเหตุการณ์ร้าย ๆ ที่สุด เกิดขึ้น เราจะรับมือกับสถาณการณ์นั้นได้หรือไม่ รวมถึงจะต้องศึกษาความน่าจะเป็นของการเกิดเหตุการณ์ด้วย แต่สิ่งที่เหลือเชื่อผมตั้งซื้อหุ้นดังกล่าวมาเป็นเวลาเกือบครึ่งปีแล้วก็ไม่เคยซื้อได้เสียที
        อีกแนวทางหนึ่งคือเก็งกำไรเงินปันผล โดยมากแล้วถ้าหุ้นตัวไหนจ่ายเงินปันผลได้สม่ำเสมอมักจะเป็นหุ้นที่พื้นฐานดี หากเก็งกำไรพลาดซื้อแล้วหุ้นลงก็ยังพอถูไถถือลงทุนไปได้ ช่วงนี้อีกไม่กี่เดือนก็จะเริ่มเป็นหน้าเทศกาลการประกาศจ่ายเงินปันผล หากนักลงทุนคาดการณ์ถูก ซื้อเก็บไว้ก่อนราคาจะขึ้นตอบสนองการจ่ายปันผล เมื่อมีการจ่ายปันผล นักลงทุนก็จะได้กำไรแบบง่าย ๆ ได้เงินปันผลโดยที่ไม่ได้ถือหุ้นนานมากนัก หรือนักลงทุนไม่อยากถือหุ้นนานจนได้เงินปันผล จะขายหุ้นออกไปก่อนทันทีที่ราคาหุ้นขึ้นสนองต่อเงินปันผลที่ได้รับแล้วก็ได้ และหาซื้อหุ้นตัวใหม่ที่ราคายังไม่สนองต่อการจ่ายเงินปันผลก็ได้ (เรื่องนี้ผมเองก็ยังไม่เคยลองทำเพราะกลัวเรื่องค่านายหน้าอยู่และมีความรู้สึกว่าการกระโจนซื้อขายหุ้น ออกจากหุ้นนี้มาหุ้นนี้จัดเป็นความเสี่ยงอยู่ หากเราพลาดซื้อหุ้นผิดตัวความเสียหายอาจจะเกิดขึ้นได้ไม่คุ้มกับผลตอบแทนที่ได้รับ) แต่ทั้งนี้และทั้งนั้นเช่นเดิม ถึงแม้จะเป็นการเก็งกำไรนักลงทุนก็ต้องคำนึงถึงความคุ้มค่าด้วย จะต้องคำนึงถึงผลตอบแทนที่ได้รับเมื่อเทียบกับเงินที่ใช้ในการลงทุนซื้อหุ้น
         อีกแนวทางหนึ่งการใช้กราฟทางเทคนิคเข้ามาช่วยในการวิเคราะห์หุ้น เรื่องนี้ผมเองกำลังศึกษาอยู่อย่างน้อยก็จะช่วยให้เข้าใจพฤติกรรมของนักลงทุนคนอื่น ๆ ที่นิยมใช้กราฟทางเทคนิคกัน หากได้ความ ได้เนื้อหาอะไรที่มันดูเข้าท่า ผมจะรีบนำมาเสนอแก่ผู้อ่านทันที
          อีกประเด็นหนึ่งที่ผมคิดว่าน่ากลัวมากคือการที่คิดว่าตนเองลงทุนแต่จริง ๆ แล้วเป็นการเก็งกำไรต่างหากและเป็นการเก็งกำไรที่ตนเองยังไม่รู้ตัวเลย เป็นการเชื่อตามกันไปอย่างนั้นเอง กระแสที่ผมเห็น ณ ตอนนี้คือการซื้อหุ้นตามเซียนหุ้นแนว VI หรือที่รู้จักกันคือนักลงทุนแนวเน้นคุณค่า ถ้านักลงทุนจะซื้อตามเขาก็ไม่ผิดอะไรแต่ต้องดูด้วยว่าราคาที่เราซื้อนั้นถูกหรือแพงกว่าเขาอย่างไร ต่อให้หุ้นนั้นเป็นหุ้นดีแค่ไหน แต่ถ้าซื้อในราคาที่แพงเกินไป นักลงทุนที่ซื้อหุ้นก็ย่อมจะได้ผลตอบแทนไม่คุ้มค่ากับเงินลงทุน ผมขอจบการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นแต่เพียงแค่นี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น