วันพฤหัสบดีที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2555

ทำไมต้องลงทุน

            ทำไมจึงต้องลงทุนก็ในเมื่อแค่ตั้งใจทำมาหากิน มีเงินก็ฝากธนาคารไม่ดีกว่าเหรอ ผมยอมรับว่าความคิดนี้ถูกต้อง แต่มันใช้ได้กับในอดีตเท่านั้น แต่ก่อนสมัยที่ผมยังเรียนอยู่ชั้นมัธยม ก่อนปีพ.ศ. 2540 อัตราดอกเบี้ยธนาคารสูงมาก เท่าที่ผมรู้จะประมาณร้อยละ 10 ต่อปี ถ้าเป็นผม ผมจะไม่มาลงทุนอะไรให้ปวดหัวหรอก เอาเงินฝากธนาคารอย่างเดียวพอ เอาเวลาไปตั้งใจทำมาหากินดีกว่า มีงานประจำก็ทำไป มีธุรกิจส่วนตัวSMEอะไรก็ทำไป
             แต่ ณ ปัจจุบันนี้ ผู้อ่านลองไปที่ธนาคารจะพบว่า อัตราดอกเบี้ยน้อยมาก น้อยกว่าอัตราเงินเฟ้ออย่างแน่นอน กล่าวคือราคาสินค้าจะแพงขึ้นเรื่อย ๆ แต่อัตราดอกเบี้ยน้อยกว่าอัตราการเพิ่มของราคาสินค้า เมื่อเวลาผ่านไปเงินที่มีอยู่จะซื้อของได้น้อยลงเปรียบได้กับค่าของเงินลดลง การฝากเงินไว้กับธนาคารจึงเหมือนเป็นที่พักเงินเท่านั้น
            ผมอยากเล่าเรื่องสมัยเด็กให้ฟัง ก๋วยเตี๋ยวแถวบ้านราคาชามละ 15 บาท เมื่อ 20 ปีก่อน แต่ ณ ตอนนี้ชามละ 40 บาท มีความรู้สึกว่าปริมาณจะน้อยกว่าตอนเมื่อ 20 ปีก่อนด้วยซ้ำไป จะเห็นได้ว่าราคาก๋วยเตี๋ยวเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 5 ต่อปี ถ้าจะฝากเงินธนาคาร ณ ปัจจุบันนี้คงหายากมากที่ธนาคารจะให้ดอกเบี้ยสูงกว่าร้อยละ 5 ต่อปี ผมเชื่อว่าประสบการณ์นี้ผู้อ่านทุก ๆ คนย่อมเคยเจอ
            ตอนนี้ผมเชื่อว่าผู้อ่านทุกคนน่าจะมองออกแล้วว่า การฝากเงินไว้กับธนาคารไว้เฉย ๆ โดยไม่ทำอะไรรังแต่จะทำให้ค่าของเงินน้อยลง แต่ผู้อ่านบางคนอาจจะแย้งว่าก็ไม่เป็นไร เพราะผมมีเงินเยอะผมต้องการแค่ให้ธนาคารช่วยดูแลเงินของผม ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ต่อไปข้างหน้ารัฐบาลจะไม่ค้ำประกันเงินฝากกับธนาคารแบบเต็มจำนวน ดังนั้นการฝากเงินไว้กับธนาคารจึงเป็นเหมือนกับการร่วมลงทุนกับธนาคาร โดยรับความเสี่ยงไปกับธนาคารและรับอัตราผลตอบแทนเป็นอัตราดอกเบี้ยเพียงเล็กน้อยแพ้อัตราเงินเฟ้อเสียอีก
            จะเห็นได้ว่าทุก ๆ คน ไม่มีทางหลีกหนีการลงทุนได้ แม้คุณจะมองว่าการลงทุนเป็นความเสี่ยงก็ตามที ทางเลือกที่ดีที่สุดก็คือเป็นฝ่ายเลือกการลงทุนที่เหมาะสมที่คาดว่าจะได้อัตราผลตอบแทนคุ้มค่ากับความเสี่ยงเสียเองจะดีกว่า
            แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องนำเงินที่มีทั้งหมดมาลงทุนทันที เริ่มทีละน้อย ค่อย ๆ เป็น ค่อย ๆ ไป อาจจะเริ่มแบบง่าย ๆ เช่น ฝากประจำ ซื้อสลากออมสิน ซื้อพันธบัตรรัฐบาล ซื้อตั๋วแลกเงิน ควรเดินด้วยทางสายกลางไม่สุดโต่งหรือหย่อนจนเกินไป นำเงินส่วนหนึ่งมาใช้ในการลงทุน ผมอยากแนะนำว่าควรจะเป็นเงินเย็นเพื่อจะได้ไม่กดดันตนเอง และในบางครั้งการลงทุนต้องใช้เวลา และที่เหลือจึงเป็นเงินส่วนหนึ่งเพื่อไว้ใช้จ่ายและซื้อสิ่งของต่าง ๆ ที่ตนต้องการตามความพอดีกับฐานะ กันเงินส่วนหนึ่งไว้ใช้จ่ายในยามฉุกเฉิน เราควรดำเนินชีวิตรวมถึงการลงทุนตามแนวทางเศรษฐกิจแบบพอเพียง ไม่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ใช้จ่ายตามกำลังฐานะ
            สุดท้ายนี้ขอให้ผู้อ่านทุกคนสามารถบริหารเงินเพื่อการลงทุน เลือกการลงทุนที่เหมาะสมกับตนเองได้ สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขตามแนวทางเศรษฐกิจแบบพอเพียง

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น